EUROPE:ชี้ปัจจัยที่ทำให้ยูโรอาจร่วงสู่ระดับ 1.00 ต่อดอลลาร์
ยูโรร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้มีการพูดกันอีกครั้งว่า ยูโรอาจแตะระดับ 1 ต่อดอลลาร์ เนื่องจากการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์เพิ่มแนวโน้มที่จะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าที่อาจส่งผลกระทบครั้งใหม่ต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยยูโรดิ่งลง 6% แล้วจากระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีที่ทำไว้ในเดือนก.ย.เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ยูโรอาจจะร่วงแตะระดับ 1 ต่อดอลลาร์ และเคลื่อนตัวห่างจากระดับดังกล่าวเพียง 5% และก่อนหน้านี้ ยูโรเคยมีการซื้อขายต่ำกว่าระดับดังกล่าวมาก่อนในช่วงต้นทศวรรษ 2000 และอีกครั้งในช่วงปี 2022 เมื่ออัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับขึ้นเร็วกว่าของยูโรโซน ขณะที่ยุโรปเผชิญกับราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นมากหลังเกิดสงครามในยูเครน และสำหรับเทรดเดอร์ ระดับ 1 ต่อดอลลาร์เป็นระดับทางจิตวิทยาที่สำคัญ ดังนั้น การร่วงลงต่ำกว่าระดับดังกล่าวอาจจะซ้ำเติมความเชื่อมั่นต่อยูโรที่ย่ำแย่ ซึ่งจะนำไปสู่การอ่อนค่าลงอีก นอกจากนี้ ธนาคารขนาดใหญ่ทั้งเจพีมอร์แกน และดอยช์แบงก์มองว่ายูโรอาจร่วงแตะระดับ 1 ต่อดอลลาร์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขอบเขตของภาษีการค้า เพราะการลดภาษีในสหรัฐอาจกระตุ้นเงินเฟ้อในสหรัฐด้วย และจำกัดการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงทำให้ดอลลาร์อาจจะน่าสนใจกว่ายูโร
ยูโรที่อ่อนค่ามักจะเพิ่มต้นทุนการนำเข้า และทำให้ราคาอาหาร, พลังงานและวัตถุดิบพุ่งขึ้น ซึ่งจะซ้ำเติมเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วจากที่เคยอยู่ในอัตราเลขสองหลักเมื่อสองปีก่อน ดังนั้น ผลกระทบจากการอ่อนค่าของยูโรจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าวิตกในตอนนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเงินเฟ้อจะกลับไปที่เป้าหมาย 2% ในปีหน้า หลังจากที่ผันผวนบ้างในช่วงปลายปีนี้ ในทางกลับกัน ยูโรที่อ่อนค่าก็ทำให้สินค้าส่งออกมีราคาถูกลง ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์, อุตสาหกรรม และผู้ค้าสินค้าหรูหราของยุโรป รวมทั้งรายบุคคลหรือนักลงทุนที่มีรายได้จากต่างประเทศด้วย
แต่ยูโรไม่ได้เป็นสกุลเงินเดียวที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ สกุลเงินของคู่ค้าสำคัญๆของสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนักในรอบ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากความวิตกเกี่ยวกับภาษีการค้า โดยยูโรร่วงกว่า 4.5%,เปโซร่วง 6% และวอนร่วงลง 5.4% ซึ่งจริงๆแล้ว ยูโรพุ่งขึ้น 6% ในช่วงที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่ก็ร่วงเกือบ 6% ใน 6 สัปดาห์หลังผลการเลือกตั้งในปี 2016 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้น ขณะที่เยนดิ่งลงเกือบ 10% แล้วเมื่อเทียบกับดอลลาร์
ไม่ใช่ทุกคนที่มีมุมมองระยะยาวเชิงลบต่อยูโร ธนาคารหลายแห่งมองว่าระดับ 1 ต่อดอลลาร์เป็นไปได้ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเสมอไป เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยจากอีซีบีที่เร็วกว่าสหรัฐจะเป็นปัจจัยลบต่อยูโร แต่ในด้านบวกก็คือ การลดดอกเบี้ยอาจหนุนยูโรในระยะยาวด้วยการหนุนแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจของเขตยูโรเติบโต 0.4% ในไตรมาสที่ 3 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ และส่งผลดีต่อเงินยูโร ส่วนการล่มสลายของรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งอาจเปิดทางไปสู่การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการเติบโต ภายใต้รัฐบาลหน้า ก็อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนด้วย
อีซีบีในขณะนี้อยู่ในสถานะที่ดีกว่าในครั้งที่แล้วที่ยูโรอ่อนค่าลงอย่างมาก นั่นคือในปี 2022 และอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ดังนั้นการร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1 ต่อดอลลาร์ของยูโรจึงเพิ่มแรงกดดันให้อีซีบีขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ในปัจจุบันที่เงินเฟ้อกำลังลดลง จึงมีเหตุผลข้ออื่นๆที่การร่วงลงสู่ระดับ 1 ต่อดอลลาร์จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สร้างความกังวลให้แก่อีซีบี เพราะอีซีบีให้ความสนใจมากขึ้นกับการเคลื่อนไหวของยูโรเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินของคู่ค้าหลักของเขตยูโร เมื่อมองในแง่นี้ ยูโรจึงไม่ได้ดูอ่อนค่ามาก โดยยูโรที่มีการถ่วงน้ำหนักการค้าปรับตัวลงไม่ถึง 1% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังคงสูงกว่าระดับในปี 2022 นักเศรษฐศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า การส่งต่อการอ่อนค่าของยูโรไปยังเงินเฟ้อมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น การออนค่าของยูโรจึงไม่น่าจะทำให้การลดดอกเบี้ยหยุดชะงักในขณะนี้
Eikon source text